วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ข่าว IT ที่ 3
โดย นสพ.ไทยรัฐ ปีที่ 58 ฉบับที่ 18191 วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2550
ไทย จับมือ ญี่ปุ่น หวังดันมาตรฐานโอ เพนซอร์สขึ้นสู่สากล
ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (8 พ.ย.) ถึงบรรยากาศงานเอเชีย โอเพนซอร์ส ซอฟต์แวร์ คอนเฟอเร้นท์ แอนด์ โชวเคส 2007 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว วันสุดท้ายว่า บรรยากาศยังเป็นไปด้วยความคึกคักทั้งในส่วนของการออกร้านทางธุรกิจ และการสัมมนาที่แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของภาคธุรกิจ ที่มีวิทยากรสำคัญจากต่างประเทศมาร่วมบรรยาย และส่วนของการการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้พัฒนา

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน กล่าวถึงกิจกรรมสำคัญในงานครั้งนี้ ว่า นอกเหนือจากแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานโอเพนซอร์สภูมิภาคเอเชียแล้ว ยังมีการประชุมแบบปิดและการเจรจาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของศูนย์โอเพนซอร์สที่จัดตั้งในประเทศต่างๆ

ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยในนามเครือข่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในภูมิภาคเอเชียยังได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ ไอพีเอ ที่เป็นสถาบันวิจัยภาครัฐที่พัฒนาและส่งเสริมการใช้โอเพนสแตนดาร์ดและโอเพนซอร์ส โดยไทยจะได้ข้อมูลการทดสอบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ด้านโอเพนซอร์สที่ไอพีเอดำเนินการอยู่เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับนักวิจัยและนักพัฒนาโอเพนซอร์สในไทย ที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาได้ รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลการเลือกใช้สินค้าและบริการด้านโอเพนซอร์ส ที่ได้รับการทดสอบแล้วใช้งานได้ตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น

ด้านนายวิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช รักษาการผู้อำนวยการโครงการโปรแกรมซอฟต์แวร์ประยุกต์ เพื่อสารสนเทศและอุปกรณ์เคลื่อนที่ เนคเทค กล่าวว่า ในงานครั้งนี้ เครือข่ายโอเพนซอร์สได้มีความเห็นร่วมกันที่จะทำหน้าที่ทดสอบการใช้งานโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ ที่ทำงานบนแพลทฟอร์มของฮาร์ดแวร์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานว่า ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส สามารถรองรับงานประมวลผลประสิทธิภาพสูงได้มากน้อยเพียงใดและมีข้อจำกัดในการใช้งานในด้านใดบ้าง

“นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และบริษัทผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องโอเพนซอร์ส ที่จะรวบรวมเข้ามาเป็นไดเร็คทอรี่ ไว้ในเว็บไซต์ www.ossn.or.th รวมถึงผลักดันให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ในสถาบันการศึกษา และเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ด้วยการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานที่ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” รักษาการผู้อำนวยการโครงการโปรแกรมซอฟต์แวร์ประยุกต์ เพื่อสารสนเทศและอุปกรณ์เคลื่อนที่ เนคเทค กล่าว

นายวิรัช กล่าวต่อว่า บริษัท การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยไอทีระดับโลก มีข้อมูลระบุว่า โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีของเอเชีย และคาดว่า มากกว่า 60% ของหน่วยงานรัฐ ทั้งระดับกลางและระดับใหญ่ในภูมิภาคนี้ จะใช้โอเพนซอร์สเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในด้านโอเปอเรชั่นของรัฐ ภายในปี 2553 และโอเพนซอร์สยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าซอฟต์แวร์ระบบปิด ดังนั้น การพัฒนาโอเพนซอร์สจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ การศึกษาและภาคเอกชน เพื่อให้ดำเนินการได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น: